เป้เดินทาง เป้เดินป่า เป้ไต่เขา เป้เดินเมือง เป้จักรยาน สารพัดเป้ที่มีขายในปัจจุบัน
หลายรุ่น หลายยี่ห้อ หลากหลายการออกแบบเพื่อการใช้งานแต่ละกิจกรรมย่อมแตกต่างกันไป ท้้งขนาดความจุ ฟังชั่นการใช้งานพื้นฐานจนถึงการใช้งานที่เฉพาะเจาะจงกับกิจกรรมนั้นนั้น
ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า แบคแพค (Backpack) กับ รัคแซค (Rucksack) กันก่อน สองคำนี้เราจะเจอบ่อยมากเวลาเข้าไปหาข้อมูลของเป้จากเวปไซด์ต่างประเทศ คำว่า Backpack หรืออีกนัยคือเดย์แพค (Daypack) นั้นจะมีขนาดที่เล็ก และความจุที่น้อยตรงข้ามกับ Rucksack ที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่ไม่ว่าจะเป็น ฺBackpack , Daypack หรือ Rucksack ซึ่งก็เรียกรวมว่า เป้ เหมือนกัน
ขนาดของเป้
เรื่องแรกที่เราต้องรู้ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อเป้สักใบ นั่นคือ ขนาดความจุที่เราต้องการ อันนี้ก็ต้องมาดูกันที่แผนเดินทางของเราเองว่าใช้ขนเสื้อผ้าสัมภาระแค่ไหนไปเที่ยวกี่วัน เดินทางระยะสั้น 2-3 วัน หรือลากยาวไปเป็นเดือน หน่วยความจุของเป้ คือ ลิตร (Litre เรียกสั้นสั้น L) จะมีบอกไว้บนตัวเป้ตามรุ่นนั้นนั้น เช่น Farpoint 70 , Momentum 30 ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้บอกแค่ความจุของสัมภาระที่เราจะใส่ของลงไปเท่านั้นแต่มันยังให้เรานึกภาพขนาดของเป้ได้ด้วย เลขน้อยก็เป้เล็ก เลขมากก็เป้ใหญ่
ฟังชั่นพื้นฐานของเป้ ที่ควรต้องมี
- เข็มขัดรัดสะโพก (Hip Belt) 70% ของน้ำหนักสัมภาระทั้งหมดที่รวมอยู่ในเป้จะมาลงที่สะโพกเรา นับว่าเป็นภาระที่หนักเอาการ Hip Belt ที่สามารถปรับให้เข้าเข้ากะสรีระเราได้จะช่วยกระจายน้ำหนักตรงส่วนนี้ ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเมื่อต้องเดินหรือวิ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นฟังชั่นพื้นฐานที่มีอยู่ในเป้ขนาดกลางขึ้นไป
- สายสะพายตามจุดต่าง ๆ รอบตัวเป้ (Compression Straps) ทั้งด้านบน ด้านข้าง ด้านล่าง เป้บางรุ่นมีสายรัดด้านหน้าด้วย มีไว้เพื่อปรับให้เป้มีความกระชับขึ้น บางครั้งสัมภาระที่เราใส่ไป มันน้อยจนทำให้มีช่องว่างเหลือเยอะเวลาจะเดินจะวิ่งของที่อยู่ข้างในมันจะเคลื่อนไปมาทำให้สมดุลย์เสีย ของจะลงมากองที่ก้นเป้จนกลายเป็นภาระของสะโพกเกินไป การที่สายสะพายปรับได้จะทำให้เป้มีความกระชับทรงของเป้จะแน่น และแนบกับแผ่นหลังเราเป็นหนึ่งเดียว ความคล่องตัว กระกระจายน้ำหนักก็จะดีไปด้วย
- สายรัดหน้าอก และปรับความยาวของแผ่นรองหลัง (Back & Chest Straps) เมื่อปรับสายรอบเป้ได้กระชับเข้าที่แล้ว สายรัดหน้าอกนี้แหละ จะทำให้เป้ไม่แกว่งส่ายไปมาเวลาเคลื่อนไหว ช่วยให้ไม่เกิดอุบัติเหตุ สำหรับในเป้รุ่นใหญ่จะมีฟังชั่นปรับความยาวของแผ่นรองหลังได้ด้วย พื่อให้สมดุลย์กับแผ่นหลังของแต่ละคน เวลาสะพายจะไม่เกิดช่องว่างระหว่างเป้กับหลังเราการรับน้ำหนักก็ดีขึ้น ไม่ปวดเมื่อยหลังเมื่อสะพายไปนานนาน
- ช่องใส่ของ หรือช่องเล็กช่องน้อยสารพัดประโยชน์ที่มีอยู่ทั้งภายนอกและภายในเป้ ช่องใส่ขวดน้ำข้างเป้ กระเป๋าเล็กเล็กที่อยู่ตรง Hip Belts ทั้งสองข้าง ไว้ใส่มือถือหรือเครื่องเล่น mp3 ช่องใส่ของขนาดใหญ่ด้านบน กระเป๋าลับที่อยู่ข้างใน ช่องเก็บ rain cover ช่องใส่ laptop computer หรือ tablet ถ้าเป็นเป้รุ่นใหญ่จะมีช่องใส่ถุงนอนอยู่ล่างสุด ช่องใส่ของจะมีมากมีน้อยก็อยู่ที่การออกแบบแต่ละยี่ห้อ
- แถบสะท้อนแสง หรือช่องสำหรับเสียบไฟกระพริบ และก้านล็อคหมวกกันน็อก ส่วนใหญ่เราจะเห็นฟังชั่นนี้ในเป้จักรยาน เพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องขี่จักรยานในยามค่ำคืนให้รถใหญ่ที่ขับมาบนเส้นทางเดียวกับเรามองเห็น
- ช่องสำหรับใช้เกี่ยว คาราไบเนอร์ (Carabiner) และอุปกรณ์สำหรับกิจกรรม Outdoor เป้เดินป่าปีนเขา ระดับ technical backpack จะมีช่องไว้เสียบไม้ค้ำช่วยเดิน (walking stick หรือ walking pole) และที่แขวนขวานหิมะ (snow axe) รวมถึงช่องเหน็บคาราไบเนอร์ (carabiner) และอุปกรณ์อื่น ๆ
- ต้องมี Rain Cover เป้ส่วนใหญ่จะกันน้ำได้ระดับนึงเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมี rain cover ไว้ บางยี่ห้อต้องซื้อต่างหากด้วยล่ะ rain cover นอกจากจะใช้คลุมเป้เพื่อกันน้ำกันฝนแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เป้โดนสิ่งสกปรกด้วย เช่นตอนที่ต้องโหลดกระเป๋าไปกับเครื่องบิน ถ้าไม่คลุมเป้ไว้ อาจโชคไม่ดีไปโดนคราบน้ำมันก็ได้ประโยชน์อีกอย่างของ rain cover คือป้องกันขโมยแอบเปิดเป้ขโมยของขณะที่เราสะพาย ไม่ว่าบนรถหรือกำลังเดินในเมือง ประโยชน์เยอะดี
- เป็นเป้โครงใน (Internal Frames) เป้เดินป่าขนาดใหญ่ รุ่นใหม่ ๆ จะเป็นเป้โครงใน (Internal Freames) กันหมดละ เพราะมีน้ำหนักเบากว่าเป้โครงนอก (External Frames) อยู่เยอะ เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการใส่สัมภาระเยอะ โครงสร้างของเป้จะมีวัสดุที่รองรับน้ำหนักได้ดีขึ้น เช่น อะลูมิเนียม, พลาสติก, framesheets, แท่ง Delrin หรืออาจจะใช้วัสดุเหล่านี้ร่วมกัน ขนาดและรูปทรงกระเป๋าต้องมีความพอดีและเหมาะสม เพื่อรองรับกับแผ่นหลังของผู้ใช้ สิ่งที่สำคัญที่สุดของกระเป๋าเป้ประเภทนี้ คือความสะดวกสบายในการสะพาย สามารถถ่ายโอนน้ำหนักไปที่บริเวณสะโพกได้ดีใช้ร่วมกับเข็มขัดรัดสะโพก (Hip Belt) ด้วย
เท่านี้ก็พอจะเป็น guide lines ในการเลือกซื้อเป้ได้บ้างละ เรื่องของเป้ ยังมีอีกมากครับ ไว้จะมาเล่าให้ฟังในต่อไปครับ