Raspunsuri Pixwords math academy answers Pixwords 3 letters Pixwords 6 litere Pixwords 10 letters Pixwords 13 letters Pixwords 14 litere
พิพิธภัณฑ์ ซับจำปา จังหวัดลพบุรี - Way of Backpacker
Home / ท่องเที่ยวไทย / พิพิธภัณฑ์ ซับจำปา จังหวัดลพบุรี
พิพิธภัณฑ์ ซับจำปา จังหวัดลพบุรี

พิพิธภัณฑ์ ซับจำปา จังหวัดลพบุรี

มิวเซียมสยาม ร่วมยกระดับ ‘ พิพิธภัณฑ์ ซับจำปา

สร้างแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ต่อยอดสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน

มิวเซียมสยาม (museum siam) จับมือ อบต.ซับจำปา พัฒนา ‘พิพิธภัณฑ์ ซับจำปา’  ให้เป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล พร้อมต่อยอดรวมพลังภาคประชาชน พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่น

‘ ซับจำปา ‘ เป็นเมืองโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องถึงยุคทวารวดี  ที่ถูกค้นพบมานานกว่าทศวรรษ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7  เขตตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ ตั้งอยู่บนดินเนินสูงของขอบที่ราบภาคกลาง ที่ต่อกับที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะเป็น ป่าพุ (หรือป่าพรุ) มีโบราณสถานเป็นร่องรอยคูน้ำคันดิน และพบร่อยรอยที่อยู่อาศัยของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น โดยมีหลักฐานเป็นโบราณวัตถุ เช่น โครงกระดูกมนุษย์ กำไลหิน ภาชนะดินเผา พระพุทธรูป จารึกภาษาบาลีสันสกฤต เป็นต้น

สิ่งที่อยู่คู่เมืองโบราณ ซับจำปา คือ ‘ ป่าจำปีสิรินทร ‘ ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของเมืองโบราณซับจำปา เป็นป่าพุน้ำจืดที่มีน้ำท่วมขัง และน้ำซับตลอดปี มีการค้นพบต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก และยังค้นพบ พรรณไม้จำปีชนิดใหม่ ที่มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น  มีลักษณะแตกต่างไปจากจำปีและจำปาทั่วไป สามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ในสภาพพื้นที่ป่าพุ ซึ่งทุกชนิดทั่วโลกขึ้นบนพื้นที่ดอน หรือบนภูเขาหรือตามพื้นดินที่น้ำระบายได้ดี

การค้นพบครั้งแรกนี้เกิดขึ้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2541  โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น  นักวิชาการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

WRDSCN1828

ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยเป็นชื่อของพรรณไม้ชนิดนี้ว่าจำปีสิรินทร ‘ หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า  Magnolia Sirindhomiae Noot & Chalermglin

เมืองโบราณซับจำปา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของชุมชนและพรรณไม้อันมีคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่ง  มิวเซียมสยาม จึงรว่มมือกับ องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนา ‘ พิพิธภัณฑ์ซับจำปา ‘ ให้กลายเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ตามแนวคิดและปรัชญาของ มิวเซียมสยาม นอกเหนือไปจากการเก็บรวบรวมข้อมูล และโบราณวัตถุเพื่อการศึกษา และเพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจของท้องถิ่น

ตกแต่งพื้นที่รอรับเสด็จ

ตกแต่งพื้นที่รอรับเสด็จ

นายคณิศ แสงสุพรรณ  ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า มิวเซียมสยาม หรือ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีพันธกิจหลักในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางเลือกรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

Discovery Museum เน้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยได้จัดตั้ง ต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกคือ ‘ มิวเซียมสยาม บริเวณท่าเตียน กรุงเทพ ฯ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการแสงหาความรู้ผ่านสื่อที่หลากหลาย และรื่นรมย์ให้กับประชาชนไทย

‘ นอกจากนี้มิวเซียมสยามยังมีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างความร่วมมือ กับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศเพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดตั้ง และการบริการการจัดการพิพิธภัณฑ์ของประเทศไทย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในภูมิภาคนั้น ๆ ในลักษณะการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ซับจำปา จังหวัดลพบุรี ‘

นายราเมศ พรหมเย็น  ผู้อำนวยการสถาบันพิพธภัณฑ์การเรียรู้แห่งชาติ (สพร.) กล่าวว่าปัจจุบันมิวเซียมสยามมีต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่ดำเนินการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จำนวน 4 แห่งคือ

  • พิพิธภัณฑ์แมลงสยาม จังหวัดเชียงใหม่
  • พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จังหวัดภูเก็ต
  • พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก
  • พิพิธภัณฑ์ซับจำปา จังหวัดลพบุรี

‘ ซึ่งในส่วนของพิพิธภัณฑ์ซับจำปาแห่งนี้ ในปี 2556 มิวเซียมสยามได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา พัฒนาให้เป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ และได้ทดลองเปิดให้บริการโดยไม่เก็บค่าบริการแก่เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้าชม

ในปี 2557 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ซับจำปา ในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 มิวเซียมสยามหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพิพิธภัณฑ์ซับจำปา จะเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ตามแนวคิด และปรัชญาของ มิวเซียมสยาม อีกแห่งหนึ่งที่จะสามารถสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงยกระดับไปสู่แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ‘

ภายในอาคารจัดแสดงวัตถุโบราณที่ขุดเจอ

ภายในอาคารจัดแสดงวัตถุโบราณที่ขุดเจอ

นายเนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา กล่าวว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ซับจำปาเกิดจากภาคประชาชน หลังจากมีการค้นพบเมืองโบราณซับจำปา ในปี 2513 และเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณ นับจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีการจัดตั้ง ‘ ชมรมรักษ์เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร ‘

ด้วยเล็งเห็นว่าการจะอนุรักษ์อย่างเดียวคงจะไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป จึงได้เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้ว่าจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น ชาวบ้านที่ขุดพบโบราณวัตถุในไร่นาได้นำสิ่งของมามอบให้ชมรมรักษ์ ฯ และของบประมาณจากจังหวัดเพื่อมาสร้าง ‘ พิพิธภัณฑ์ซับจำปา ‘ โดยการปรับปรุงอาคารเรือนเพาะชำเดิม ให้เป็นอาคารเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ และจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเมืองโบราณซับจำปา

ต่อมาในปี 2556 ได้มีการคัดเลือกจากมิวเซียมสยาม  เข้ามาช่วยพัฒนาให้เป็นต้นแบบพิพิธภัณ์การเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ โดยได้รับการสนับสนุนความรู้และทีมงานในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์จากมิวเซียมสยาม โดยในระยะยาวจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดพิพิธภัณฑ์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนได้ประโยชน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในพื้นที่ มีการบริการจัดการอย่างเป็นระบบ

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้  เราเจอปัญหา อุปสรรค ข้อกฎหมาย งบประมาณต่าง ๆ มากมาย แต่ก็เป็นเรื่องของพลังประชาชน การร่วมมือร่วมใจ ความมุ่งมั่นของประชาชนในพื้นที่ถือว่าเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ เรามีการประชุมประชาคมหมู่บ้านทั้งหมด เพื่อวางแผนในการพัฒนาต่อยอด มีงบประมาณส่วนนี้และประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของ ถ้าเสร็จสมบูรณ์แล้วก็จะเป็นต้นแบบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ความภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชน สิ่งดีดีที่เกิดขึ้นนี้จะมีประชาชนเป็นกำลังหลักในการพัฒนาต่อยอดต่อไป ‘

WRDSCN1795

ทีมงานมิวเซียมสยามถ่ายรูปที่ระลึกในวันเปิดพิพิธภัณฑ์

‘ พิพิธภัณฑ์ซับจำปา ‘ ตั้งอยู่ที่ ป่าจำปีสิรินธร หมู่ที่ 1 ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 16.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สอบถามข้อมูลโทร  036-788-101 หรือ 081-667-7339

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่   www.sub-jumpa.com