‘โรคไข้เหลือง’ คืออะไร ???
โรคไข้เหลือง เกิดจากเชื้อไวรัสไข้เหลือง แพร่เชื้อโดยยุงลาย เป็นโรคประจำถิ่นในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา และ อเมริกาใต้
อาการของโรคจะคล้าย ๆ ไข้หวัดใหญ่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ไตวาย เลือดออกภายใน ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะเสียชีวิตใน 10 – 14 วัน หลังเริ่มมีอาการ
‘วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง’
วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ทำมาจากเชื้อโรคไข้เหลืองที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง หลังฉีดวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานอย่างน้อย 10 ปี
‘ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง’
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ได้แก่ เด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่จะอาศัย หรือ เดินทางไปยังพื้นที่ที่เป็นแหล่งระบาดของโรคไข้เหลือง โดยควรฉีดวัคซีนก่อนการเดินทาง อย่างน้อย 10 วัน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งมีอายุรับรองตั้งแต่ 10 วัน หลังการฉีดวัคซีน จนถึง 10 ปีหลังจากนั้น
‘ใครควร งด รับวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง หรือ เลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน’
ผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้ ควร งด รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง
- เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองในครั้งก่อน แพ้สารเจลลาติน หรือ แพ้ไข่
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน
ผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เหลือง เพื่อลดความเสี่ยงต่อทั้งการติดเชื้อ และ อาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน แต่หากไม่สามารถเลี่ยงได้ อาจได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- หญิงมีครรภ์ และ หญิงให้นมบุตร
- เด็กอายุ 6 – 9 เดือน
- มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) หรือ เอดส์
- เป็นมะเร็ง หรือ กำลังรักษามะเร็ง ไม่ว่าด้วยวิธีฉายรังสี หรือ ยาเคมีบำบัด
- รับประทานยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น สเตียรอยด์
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับต่อมไธมัส เช่น เนื้องอกของต่อมไธมัส เคยผ่าตัดต่อมไธมัส
หากมีไข้ ไม่สบาย ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน
กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
กรณีที่มีข้อห้าม หรือ ข้อจำกัดทางสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนได้ สามารถยกเว้นการรับวัคซีนได้ตามข้อปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก แต่ต้องมีใบรับรองจากแพทย์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเดินทาง และรับคำแนะนำจากสถานฑูตของประเทศที่จะเดินทางไป รวมทั้งการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ และ ถูกยุงกัด
‘อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง’
วัคซีนก็เหมือนกับยา ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม อันตราย หรือ อาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนพบได้น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ที่รับวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง มักไม่มีปัญหาใด อาการข้างเคียงที่อาจพบหลังการฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ซึ่งอาการอาจเป็นได้นาน 5- 10 วัน อาการข้างเคียงรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ ไข้สูง อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ซึ่งพบได้ตั้งแต่วันแรกถึง 30 วันหลังได้รับวัคซีน
หากมีอาการปวด บวม บริเวณที่ฉีดวัคซีน ให้ประคบเย็น หากมีไข้ต่ำ ๆ สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์
หมายเหตุ
- การป้องกันโรคไข้เหลือง นอกจากการรับวัคซีนแล้ว ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น ใช้ยาทากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด (เสื้อและกางเกงขายาว)
- หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์
ในประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนไข้เหลือง และรับหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนได้ที่
- สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02-590-3430
- คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง (คลินิกนักท่องเที่ยว) โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-306-9100 ต่อ 3034
- คลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โทร. 02-252-0161
- ที่ทำการแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง บริเวณสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ถ.สาธร กรุงเทพ ฯ โทร 02-287-3101-3
ที่มาข้อมูล : สภากาชาดไทย (The Thai Red Cross Society)