หลังจากคืนที่ 31 ธันวาคม ไปเค้าท์ดาวน์กลับมาก็นอนเอาแรงให้พอ เพื่อเช้าวันที่ 1 มกราคม วันปีใหม่ของทุกปี ผมมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างนึงคือ การใหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า ขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยา ไปลงที่ท่าช้าง และเริ่มออกเดินตระเวนเข้าวัดใหว้พระ ไม่แนะนำให้เอารถส่วนตัวมานะครับ เพราะหาที่จอดรถยาก และแต่ละวัดในระแวกเกาะรัตนโกสินทร์นี้ก็ใกล้กันในระยะที่เดินถึงกันได้ วันนี้คนจะเยอะมาก มากถึงขนาดแทบไม่ต้องเดินแต่ไหลเข้าไปได้เลย เป็นภาพที่เห็นจนชินตาทุกปี ศาสนายังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนเราเสมอมา
ด้วยการเดินเท้าไป 9 วัดคือจำนวนที่แน่นอนในทุกปี แต่ถ้าปีไหนทำเวลาได้ ปีนั้นก็จะมีวัดแถมมาอีก 2-3 วัดถือเป็นกำไรไป
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว (เวลาเปิด-ปิด 08.30 – 16.00 น.)
ไหว้พระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เป็นศูนย์กลางความศรัทธาของชาวไทยมาช้านาน เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระแก้วมรกต แก้วแหวน เงินทองไหลมาเทมาตลอดปี” ด้วยธูป เทียน ดอกบัวคู่
2. ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร (เวลาเปิด-ปิด 05.30 – 19.30 น.)
ไปสักการะ “เทพารักษ์ทั้ง 5” คือ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์, เจ้าพ่อหอกลอง เพื่อ “ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี” ไหว้ เสาหลักเมืององค์จำลอง ด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ผ้าแพร 3 สี ดอกบัว และไหว้องค์จริงด้วยพวงมาลัย
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.)
นมัสการพระพุทธไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์ (ที่ฝ่าพระบาททั้งสองข้างประดับมุก ลวดลายภาพมงคล 108 ประการ) เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระนอนวัดโพธิ์ ร่มเย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดีตลอดปี” ด้วยธูป 9 ดอก เทียนแดงคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น หากใครที่เกิดในปีมะเมีย สามารถแก้ปีชงได้ที่วัดนี้ แนะนำให้ไปไหว้ขอพระ“พระพุทธเทวปฏิมากร” เสริมดวงให้ชีวิตสดใส สมหวังทุกประการ
4. วัดระฆังโฆษิตาราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.)
สักการะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระประธานที่วัดระฆัง อ่านคาถาชินบัญชร เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระวัดระฆัง มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี” ด้วยธูป 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 3 แผ่น หมากพลู
5. วัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.)
ไหว้พระปรางค์วัดอรุณฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระวัดอรุณ ชีวิตโรจน์รุ่ง ทุกวันคืน” ต้องไปสักการะ“พระประธาน” ด้วยธูป 3 ดอก เทียนคู่ และต้องไปเดินทักษิณาวัตรรอบ “พระปรางค์” อีก 3 รอบ เพื่อ“ชีวิตรุ่งโรจน์”
6. ศาลเจ้าพ่อเสือ (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.)
ไปสักการะ เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม ฯลฯ เพื่อเสริม “อำนาจบารมี” ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ พวงมาลัย 1 พวง “ศาลเจ้าเก่าแก่ของลัทธิเต๋า” หนึ่งในสามมหาสถานของพระนครที่ชาวจีนต้องสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล “เสริมอำนาจบารมี”
7. วัดชนะสงคราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.)
ต้องไปสักการะ “พระประธาน” ในพระอุโบสถ และ “สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา)” ผู้นับถือความซื่อสัตย์ ด้วย ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก มีความเชื่อว่า “จะมีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง ไหว้พระวัดชนะสงคราม อุปสรรคร้ายพ่ายแพ้”
8. วัดสุทัศน์เทพวราราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) หน้าวัดจะมี ‘เสาชิงช้า’ สัญลักษณ์ของกรุงเทพตั้งอยู่
ไหว้พระองค์ประธาน (พระศรีศากยมุณี) ที่เก่าแก่ ซึ่งอดีตเคยประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงวัดมหาธาตุของกรุงสุโขทัย เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้พระวัดสุทัศนฯ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป” ด้วยธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม ดอกบัวหรือพวงมาลัย
9. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) (เวลาเปิด-ปิด 08.00-18.00 น.)
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความเชื่อว่า ” เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล” นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถที่ภายในมีภาพเขียนจิตรกรรมฝีมือช่าง สมัยรัชกาลที่ 3 และหอไตร ศิลปะสมัยอยุธยา บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ เครื่องสักการะ : ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 3 ดอก
นอกเหนือจาก 9 วัดที่ผมไปมาประจำ ถ้ามีเวลาพอก็จะเก็บได้อีก 2-3 วัดระหว่างทางด้วยครับ ซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน
วัดกัลยาณมิตร หรือวัดซำปอกง (เวลาเปิด-ปิด 08.00 – 16.00 น.) วัดนี้ทาง ททท. บรรจุเป็น 1 ในคู่มือใหว้พระ 9 วัดในปัจจุบัน
ไหว้หลวงพ่อซำปอกง (พระพุทธไตรรัตนนายก) พระโตริมน้ำตามตำนาน กรุงศรีอยุธยา ณ วัดกัลยาณมิตร เพื่อความเป็นสิริมงคล “ไหว้หลวงพ่อซำปอกง โชคดีมีชัยปลอดภัยตลอดปี” ด้วยธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่
เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์
นับว่าเป็น เทวสถาน วัด หรือ โบสถ์ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาวัดฮินดูทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ภายใต้การบริหาร ดูแลและประกอบพิธีกรรม โดย คณะพราหมณ์หลวง แห่งสำนักพระราชวัง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานสำคัญของชาติ
ภายในเทวสถาน จะมีโบสถ์อยู่ 3 หลัง
- สถานพระอิศวร
- สถานพระพิฆเนศวร
- สถานพระนารายณ์
วัดเทพธิดารามวรวิหาร ( วัดเทพธิดาราม )
สร้างเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2382 พระศรีสุนทรโวหาร(ภู่) หรือรู้จักกันในนามว่า “สุนทรภู่” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้อุปสมบทและจำพรรษาที่พระอารามนี้ระหว่าง พ.ศ. 2382 – 2385 ปัจจุบัน ‘กุฏิสุนทรภู่’ ยังคงอยู่ในวัดนี้